Wednesday, October 04, 2006

สาระสำคัญ(3)

- จริยธรรมที่แท้เป็นระบบความสัมพันธ์ของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน
เวลานี้มีความโน้มเอียงในทางที่จะแยกส่วน เช่น จริยธรรม ก็มักมองเฉพาะในแง่ พฤติกรรม โดยโยงไม่ค่อยถึงจิตใจ และตัดออกไปจากปัญญา เป็นการหลงติดในจริยธรรมตะวันตก ที่ไม่เอาปัญญาเข้ามาด้วย
จริยธรรมตะวันตกมองแค่พฤติกรรม โดยโยงมาหาจิตใจเพียงในแง่คุณธรรมนิดหน่อย (แง่สุข - ทุกข์ ถูกมองข้าม) แต่ปัญญาไม่นึกถึง เพิ่งจะมีโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg ๑๙๒๗ - ๑๙๘๗) มาเริ่มโยงบ้าง ก็ทำให้นักการศึกษาตื่นเต้นกันว่า จริยธรรมแบบโกลเบอร์กนี่เอาเรื่องเหตุผลเข้ามาพิจารณาด้วย อะไรทำนองนี้
ความจริง จริยธรรม ต้องครบ ๓ ทั้งด้าน จะแยกกันไม่ได้ จริยธรรมก็คือชีวิตทั้งหมดที่ดำเนินไปด้วยดี
จริยธรรม คืออะไร ก็คือการที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี หรือ หลักการดำเนินชีวิตที่ดีซึ่งประกอบด้วย ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และ ปัญญา ซึ่งต้องเอามาประสานกันให้เป็นองค์รวมให้ได้ เพราะคนเราเรียนรู้จากสามด้านนี้มาประสานกัน แต่ละด้านก็มีการเรียนรู้
เรียนรู้ทางด้าน พฤติกรรม เมื่อเราเคลื่อนไหวพูดจาจัดแจงอะไรต่างๆ ก็ทำให้เกิดความเคยชิน มีทักษะ
เรียนรู้ทางด้าน จิตใจ เช่น เราไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบ เรามีความซาบซึ้ง มีความสุขจากธรรมชาติ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์ มีการช่วยเหลือกัน มีความเอื้อเฟื้อไมตรี เกิดความชื่นชมมีความสุข การเรียนรู้ในทางจิตแบบนี้ ก็ทำให้เกิดการพัฒนา คุณธรรม มีความโน้มเอียงของจิตใจ เช่นจริตอัธยาศัยต่างๆเกิดขึ้น
เรียนรู้ทาง ปัญญา เมื่อเรารู้จักคิดพิจารณา ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ก็จะได้ความรู้เข้าใจได้ความคิด และทำให้ทั้งพฤติกรรมและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป
เราเรียนรู้ทั้งสามด้านนี่แหละ แต่ต้องเอามาประสานกันให้ได้ กระบวนการเรียนรู้จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี
ถ้าเราพัฒนา พฤติกรรม กาย วาจา ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ดี ทางสังคมก็ดี ให้เกิดเป็นคุณลักษณะประจำตัวในทางที่ดี ท่านเรียกว่า ศีล การฝึกทางด้านจิตใจนั้น มีสมาธิเป็นแกน ก็เลยเรียกว่า สมาธิ ส่วนการฝึกฝนพัฒนาในด้านความรู้ ความเข้าใจ ก็เรียกว่า ปัญญา (กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ หน้า ๕๗ - ๕๘)
บทบาทหน้าที่ของครู - อาจารย์ ในสังคมไทยแต่ดั้งเดิมนานมาแล้ว มี ๕ ข้อ คือ
๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฎ
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริงและรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ
คุณธรรม จริยธรรม เป็นการฝึกปรือให้คนเป็นคนดีหรือเป็นบัณฑิต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์และสังคมบ้านเมือง สมควรที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องสำเหนียก และร่วมมือกันสร้างสรรค์คนไทยให้เป็น คนดี หรือเป็นบัณฑิต ให้ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะ “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาต้องวินาศ” อย่างแน่นอน./

No comments: