Wednesday, October 04, 2006

สาระสำคัญ(2)

คุณธรรม จึงเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์ใช้เป็นกรอบการตัดสินใจ (Frame of Reference) ที่จะประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ และมีความมั่นใจ อบอุ่นใจว่าตนได้ประพฤติถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม เกิดความสงบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น
- จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ หน้า ๒๙๑)
คำว่า “จริยธรรม” มาจากคำ ๒ คำคือ จริย + ธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ ( ไสว มาลาทอง ป.ธ. ๕ น.ธ .เอก ศน.บ. M.A. คู่มือ การศึกษาจริยธรรม กรมการศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๖)
คำว่า ธรรม พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า คือ
๑. ธรรมชาติ
๒. กฎของธรรมชาติ
๓. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
๔. การได้รับผลตามกฎของธรรมชาติ
คำว่า ธรรม พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวไว้ว่า คือ
“สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ สภาวะธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหดุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ ฯลฯ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต ) เพิ่มศัพท์และปรับปรุง พ.ศ. ๒๔๒๗ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๑๐๕)
ที่นำเอาความหมายของคำว่า ธรรม ที่ท่านผู้รู้กล่าวไว้มาเสนอมากพอสมควรนี้ก็เพื่อความเข้าใจคำว่า ธรรม ให้มากขึ้น เพราะเป็นคำที่สำคัญที่สุดและคนทั่วไปมักจะเข้าใจเพียงมัวๆเท่านั้น
ธรรม หรือ สัจธรรม เป็นแม่บท เป็นฐานของทุกอย่าง ต่อจาก สัจธรรม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม อันได้แก่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความดีงาม ซึ่งเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ความจริงของมนุษย์ต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี
จากนั้นจึงจะมาถึง วัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีปฏิบัติที่จะให้เกิดผลเป็นจริงตามที่มนุษย์ต้องการ
สัจธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เป็นภาวะของธรรมชาติ
จริยธรรม คือข้อผูกพันที่โยงสัจธรรมนั้นเข้ากับชีวิตและสังคมมนุษย์
วัฒนธรรม คือรูปแบบการปฏิบัติตามจริยธรรมที่ปรากฎในวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์ (วัฒนธรรมไทย สู่ยุคเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์การศาสนา พ.ศ. ๒๕๓๘ หน้า ๑๐)
ในระบบความสัมพันธ์ชีวิต ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ ๘ จริยธรรม มีฐานอยู่ใน อธิศีลสิกขา
อธิศีลสิกขา คือ การศึกษาด้านหรือขั้นตอนที่ฝึกปรือให้เกิดมี สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เจริญงอกงามขึ้นจนบุคคลมีความพร้อมทางความประพฤติ วินัย และความสัมพันธ์ทางสังคมถึงมาตรฐานของอารยชน เป็นพื้นฐานแก่การสร้างเสริมคุณภาพจิตได้ดี (สถานการณ์พุทธศาสนา พลิกหายนะเป็นพัฒนา พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๓๖ หน้า ๑๔๒)
จะเห็นว่า จริยธรรม หรือ ความประพฤติ วินัย และความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ หรือที่พระท่านมักใช้คำว่า ศีล นี้ มีขอบเขตกว้างขวางมาก พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวว่า “พอเริ่มการศึกษาเพียงแค่ศีล ชีวิตและสังคมก็มีหลักประกันความมั่นคงขึ้นมาทันที”
ทีนี้ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (ของมนุษย์) มีอะไรบ้าง พระพุทธศาสนาก็แยกออกมาเป็นหมวดๆ
๑. อินทรียสังวร การรู้จักใช้อินทรีย์ เช่น ตาดู หูฟัง ฯ ให้ดูเป็น ฟังเป็น ดูให้ได้ความรู้ มีสติ ไม่ไหลไปตามความยินดี - ยินร้าย, ชอบ - ชัง เท่านั้น
๒. ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งก็คือ การเสพบริโภคชีวิตจะเป็นอยู่ได้ด้วยอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องใช้สอยต่างๆ รวมไปถึงพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหลาย ซึ่งจะมาสัมพันธ์กับปัญญาทันทีเลย
ถ้าเสพได้แค่อร่อยเป็นต้น ก็จะไม่ปลอดภัย เพราะเป็นแค่รู้สึก ต้องมีปัญญารู้ด้วย พอรู้ว่า อ๋อ / ที่เรากินนี่ กินเพื่ออะไร ในการสัมพันธ์กับอาหารนั้น พระพุทธศาสนาสอนทันทีเลยว่า ปฏิสังขา โยนิโสปิณฑปาตัง บอกให้พิจารณาเข้าใจแล้วว่า เรารับประทานอาหารมิใช่เพียงแค่นี้ๆ มิใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อโก้เก๋ เพื่อสนุกสนานมัวเมา แต่รับประทานเพื่อให้ชีวิตนี้เป็นอยู่ เป็นไป โดยมีสุขภาพดี แข็งแรง และเอาชีวิตนี้ไปทำประโยชน์ได้ แค่นี้ก็ชื่อว่า ศีล แล้ว ศีลนี้เรียกว่า ปัจจยปฏิเสวนา หรือ ปัจจัยสันนิสิตศีล
ศีล อย่างที่ว่านี้เป็นศีลเบื้องต้นยิ่งกว่าศีล ๕ อีก แต่คนไทยไม่รู้จัก นี่ศีลหมวดใหญ่ๆ สองแล้ว คือการใช้อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการเสพสิ่งบริโภคสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญารู้เข้าใจ ให้ได้ประโยชน์ที่แท้แก่ชีวิต ไม่ใช่เพื่อสนุกสนาน โก้เก๋เท่านั้น จะเห็นได้ง่ายว่า เพียงแค่รู้จักกินอาหารเท่านั้น นอกจากชีวิตของตัวเองจะเป็นอยู่ดี เช่นมีสุขภาพแล้ว ยังลดการละเมิดศีล ๕ ตลอดจนอบายมุขต่างๆ ไปมากมาย
๓. ศีล ด้านต่อไปเป็นเรื่องของ อาชีวะ คือ เรื่องการเลี้ยงชีพ ฉะนั้น อาชีวะ ที่เป็น สัมมาอาชีวะ จึงเป็นศีลสำคัญในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ซึ่งเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่คนไทยมองแค่ศีล ๕ จึงไม่รู้จักศีลด้านอาชีวะ ถ้าเราเอาศีลที่เป็นองค์มรรคออกมา เราจะเห็นชัด
การเลี้ยงชีพ หรือการทำมาหาเลี้ยงชีพนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมมนุษย์ อย่างที่ว่า โลกมนุษย์เป็นไปตามกรรม กรรมใหญ่ๆก็คือการเลี้ยงชีพของมนุษย์ อย่างที่แยกเป็น เกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ การประกอบอาชีพต่างๆนี่แหละทำให้โลกเป็นไป อารยธรรม จะมีความเจริญในแนวไหนก็เป็นไปตามอาชีวะ
ถ้าเป็นเด็กๆอาชีวะที่ถูกต้อง ก็หมายความว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมกับการเลี้ยงดูของพ่อ – แม่ เรียกว่ามีสัมมาอาชีวะ ฯ
เรื่องสัมมาชีพนี่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมมนุษย์ อาชีพทุกอย่างมีขึ้นเพื่อจุดหมายในการแก้ปัญหาชีวิตสังคม และเพื่อการสร้างสรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำถูกต้องตามวัตถุประสงค์นั้น เช่น อาชีพแพทย์มีเพื่ออะไร เพื่อบำบัดโรค และช่วยคนมีสุขภาพดี ถ้าทำเพื่อการนี้ก็เป็นสัมมาอาชีวะ แต่ถ้าทำเพื่อเงิน ก็แสดงว่าเขวแล้ว ฉะนั้นจึงต้องประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ สัมมาอาชีวะจึงเป็นศีลอีกหมวดใหญ่
๔. อีกหมวดหนึ่งที่สำคัญก็คือ ศีลที่เป็นหลักกำกับชุมชน หมายความว่า ชุมชนแต่ละชุมชน ตลอดจนสังคมประเทศชาติ ต้องมีระบบระเบียบในการเป็นอยู่ มีหลักการ มีกฎ มีกติกา
หลักการ กฎ กติกา ที่คุมให้ชุมชนอยู่กันดี เป็นศีลประเภทที่เรียกว่า ปาฏิโมกข์ ชาวบ้านมีศีล ๕ พระมีศีล ๒๒๗ ก็คือศีลประเภทนี้
หมายความว่า อย่างน้อยสำหรับชาวบ้านนี่ สังคมจะอยู่ได้ไม่ลุกเป็นไฟ ก็ต่อเมื่อคนยังพอรักษาศีล ๕ กันได้โดยเฉลี่ย คือ ไม่ทำร้ายร่างกายทำร้ายชีวิตกัน ไม่ลักขโมยละเมิดกรรมสิทธ์กัน ไม่ล่วงละเมิดทางเพศกัน ไม่ทำลายผลประโยชน์กันด้วยการกล่าวเท็จหลอกลวง แล้วก็ไม่คุกคามสร้างความรู้สึกพรั่นพรึงให้ประชาชนสูญเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วยการเสพยาเสพติด จะเห็นว่าพอมีใครเสพยาเสพติดคนอื่นจะสูญเสียความมั่นคงปลอดภัยทันที
หลักศีล ๕ จึงเป็นการช่วยให้สังคมนี้ปลอดภัย พออยู่กันได้ เพราะฉะนั้นศีล ๕ จึงเป็นฐานของระเบียบสังคม ดังที่ปรากฏว่าจากศีล ๕ นี่พัฒนาเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ กฎ เกณฑ์ อะไรต่ออะไรขึ้นไปอีกทีหนึ่ง
โดยมากกฎหมายของเราก็อาศัยศีล ๕ นี่แหละเป็นฐานขยายออกไปจากเรื่องศีลนี้แหละ เป็นเรื่องชีวิตร่างกาย เรื่องทรัพย์สิน เรื่องครอบครัว เรื่องเพศ เรื่องของการใช้วาจา และเรื่องสิ่งเสพติดมัวเมา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ในการสร้างกฎหมาย
ตกลงว่าศีลก็แค่นี้แหละ ๔ หมวดนี่ เป็นการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ในบ้าน พอเด็กเกิดมาก็ต้องรู้จักเป็นอยู่ ตั้งแต่รู้จักอยู่ร่วมกับพ่อ – แม่ พี่น้อง ต้องรู้ว่ากินอาหารเพื่ออะไร นุ่งห่มเสื้อผ้าเพื่ออะไร ความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของมันอยู่ที่ไหน ตลอดจนดูโทรทัศน์เป็นฟังวิทยุเป็น แค่นี้ก็มีศีล
ศีล ประเภทนี้เราไม่ค่อยเอาใจใส่ ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติตามธรรมดา (สู่การศึกษาแนวพุทธ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เอกสารอัดสำเนา กระทรวงศึกษาธิการ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๑๓ - ๑๖)
จะเห็นว่าฐานของ จริยธรรม ในพระพุทธศาสนามีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร และอาจจะประเมินดูว่าสังคมในปัจจุบันนี้มี สภาพความสมบูรณ์ หรือความเข้มแข็งทางจริยธรรมจริงๆเพียงไร ได้จาก ความเป็นผู้มีศีลทั้ง ๔ ประเภท นี้ของคนในสังคมเพียงพอที่จะไว้วางใจได้เพียงใดนั่นเอง

No comments: