Wednesday, October 04, 2006

สาระเบื้องต้นที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อน

๑. “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” พระเดชพระคุณพระธรรม -โกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ วัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัด
สุราษฎร์ธานี กล่าวเตือนสาธุชนโดยทั่วไปมานานแล้ว และคณะเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ
(ผ.ชป.)ได้ช่วยเผยแพร่ผ่านทางหนังสือ และทางสื่อต่างๆเป็นเวลานาน
“ศีลธรรม” เข้าใจว่า คงหมายถึง คุณธรรม จริยธรรม ที่คนปัจจุบันนี้มักใช้พูดในวงการต่างๆเพื่อให้ไพเราะมากขึ้นนั่นเอง
“โลกา” คือ โลก ได้แก่แผ่นดินที่อาศัย,หมู่สัตว์ผู้อาศัย (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พระราชวรมุนี ประยุทธ์ ปยุตโต) เพิ่มศัพและปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๒๗ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๒๕๙)
“วินาศ, วินาศ- (วินาด, วินาดสะ-) น. ความฉิบหาย ฯ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๑๐๗๗)
จะเห็นว่าถ้าขาด ไม่มี หรือ แม้แต่พร่องคุณธรรม จริยธรรม (ศีลธรรม)แล้ว แผ่นดินที่อาศัย และหมู่สัตว์ (รวมทั้งคน)ผู้อาศัย จะถึง ความฉิบหาย เอาเลยทีเดียว
คุณธรรม จริยธรรม (ศีลธรรม) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคน สังคม และธรรมชาติแวดล้อมสุดที่จะประมาณได้
๒ สังคมไทย คนใช้คุณธรรม จริยธรรม ที่มาจากแหล่งต่างๆหลายอย่าง เช่น
คุณธรรม จริยธรรมสากล ที่มีแหล่งมาจาก
- ลัทธิการเมือง เช่นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยใช้เสียงข้างมาก เป็นต้น
ทางวิชาการ นวัตตกรรม และเทคโนโลยี
กฎหมาย และ
กระแสสังคม
คุณธรรม จริยธรรม ที่มีแหล่งมาจากศาสนา เช่น คุณธรรม จริยธรรมในพระพุทธศาสนา และทุกศาสนาต่างก็มีคุณธรรม จริยธรรม ของศาสนานั้นๆ
๓. ปัญหาความขัดแย้งในการใช้คุณธรรม จริยธรรม เกิดจาก
- การดูถูก ลบหลู่ ไม่พอใจ และขัดขวางการใช้คุณธรรม จริยธรรม ที่ไม่ใช่ของตน หรือของศาสนาที่ตนนับถือ
- เลือกใช้เฉพาะ คุณธรรม จริยธรรม ที่ ได้เปรียบ คู่แข่งขัน มักจะมาจาก การประพฤติไม่เป็นธรรม หรือมีการประพฤติ ไม่เป็นไปตามธรรม มาก่อน เช่น “มีหลายมาตรฐาน” หรือ “เลือกปฏิบัติ” หรือ “ละเว้นการปฏิบัติ” เป็นต้น การประพฤติเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนยากแก่การที่จะเชื่อถือ
๔. ในเอกสาร “สาระในด้านคุณธรรม จริยธรรมจากเรื่องพระอภัยมณี” นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ คุณธรรม จริยธรรม ในพระพุทธศาสนา เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรมสากล และในศาสนาอื่น และจะจำกัดขอบเขตไว้เพียง คุณธรรม จริยธรรม ตามหนังสืออธิบายธรรมวิภาค คิหิปฏิบัติ หนังสือนวโกวาท และบทมงคลสูตร เท่านั้นอีกด้วย
๕. ความหมายของคำว่า คุณธรรม จริยธรรม ในพระพุทธศาสนา
- คุณธรรม (คุนนะ-) น. สภาพคุณงามความดี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๒๕๓)
ในสิกขา ๓ มี อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คุณธรรม มีฐานเกิดอยู่ใน อธิจิตตสิกขา คือ การศึกษาด้านหรือขั้นตอนที่ฝึกปรือให้เกิดมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เจริญงอกงามขึ้นจนบุคคลมีความพร้อมทาง คุณธรรม มีคุณภาพจิต สมรรถภาพจิตและสุขภาพจิตพัฒนาถึงมาตรฐานของอารยชน เป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาปัญญาได้ดี (สถานะการณ์พุทธศาสนา พลิกหายนะเป็นพัฒนา พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) กรมการศาสนา ก.ท.ม. พ.ศ. ๒๕๓๖ หน้า ๑๔๓)
คุณธรรม จึงเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์ใช้เป็นกรอบการตัดสินใจ (Frame of Reference) ที่จะประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ และมีความมั่นใจ อบอุ่นใจว่าตนได้ประพฤติถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม เกิดความสงบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น
- จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ หน้า ๒๙๑)
คำว่า “จริยธรรม” มาจากคำ ๒ คำคือ จริย + ธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ ( ไสว มาลาทอง ป.ธ. ๕ น.ธ .เอก ศน.บ. M.A. คู่มือ การศึกษาจริยธรรม กรมการศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๖)
คำว่า ธรรม พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า คือ
๑. ธรรมชาติ
๒. กฎของธรรมชาติ
๓. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
๔. การได้รับผลตามกฎของธรรมชาติ
คำว่า ธรรม พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวไว้ว่า คือ
“สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ สภาวะธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหดุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ ฯลฯ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต ) เพิ่มศัพท์และปรับปรุง พ.ศ. ๒๔๒๗ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๑๐๕)

No comments: